วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

         
                     สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ


   "ยิ้มรับสุขภาพดีกันดีกว่า"


  สุขภาพดีและปราศจากโรคคงไม่ใช่เรื่องของความโชคดีเป็นแน่ แต่เป็นเรื่องของการดูแลใส่ใจเฉพาะตัวบุคคลต่างหากสุขภาพดีต้องดูแลถึงจะ อยู่กับเรา ไปนานเท่านาน สุขภาพจะดีแค่ไหนประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ “ปัจจัยส่วนบุคคล” และ “ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม”




          ปัจจัยส่วนบุคคล

        ได้แก่ พันธุกรรม เพศ อายุ และวิถีการดำเนินชีวิต จะเห็นว่าพันธุกรรม เป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้เพราะบรรพบุรุษให้ติดตัวมาแต่กำเนิด เพศและอายุ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่ง “วิถีการดำเนินชีวิต” เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อ พันธุกรรม เพศ อายุ และความสมบูรณ์ของสุขภาพมากที่สุด เพราะถ้ามี วิถีการดำเนินชีวิตที่ดีก็อาจช่วยชะลอโรคจากพันธุกรรม ชะลอ ความเสื่อมตามวัยได้ ที่สำคัญคือเราสามารถกำหนดรูปแบบวิถีการ ดำเนินชีวิตได้เปลี่ยนแปลงได้และควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง

         ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

         ไม่ว่าจะเป็นอากาศ น้ำ ระบบสุขาภิบาล สภาพแวดล้อมทางชีวภาพ สภาพแวดล้อมทางสังคม ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของเราเช่นกัน และก็มีทั้งส่วนที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

            คนเราจะมีสุขภาพพื้นฐานดีได้ ต้องมีความสมดุลในองค์ประกอบต่างๆของชีวิต

        ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกอาหารการกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน ความสัมพันธ์ในสังคม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตลอดจนวิธีคิดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือ “วิถีการดำเนินชีวิต” ที่มีบทบาทต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจที่เราควบคุมได้ เกือบทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ขยันออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง นอนหลับให้พอเพียงทุกวัน ซึ่งแต่ละคนต้องการจำนวนชั่วโมงการนอนไม่เท่ากัน การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัว (ที่สามารถควบคุมได้) ให้ถูกสุขอนามัยปรับมุมมองและวิธีคิดบวกเสริมสร้างจิตใจด้านดี
        
      


              อีกทั้งผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้เราสามารถปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ มีสุขภาพจิตที่ดีและในทางเดียวกันนั้นเอง ถ้าปรับวิถีการดำเนินชีวิตด้านต่างๆให้ดีแล้ว แต่ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินยังตามใจปากแต่ลำบากกายแบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะการมีสุขภาพดีต้องรวมถึงมีโภชนาการที่สมดุลด้วยซึ่งจะช่วยรักษา เสริมสร้าง ป้องกันสุขภาพของเราให้มีความแข็งแรงเต็ม 100เปอร์เซ็นต์

         รักษา  สุขภาพพื้นฐานให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่่อระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         เสริมสร้าง  เพื่อให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น และชะลอความเสื่อมให้ช้าลง
         ป้องกัน  เพื่อไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มาเบียดเบียน

          ทั้งนี้การจะ “รักษา-เสริมสร้าง-ป้องกันสุขภาพของเรา” ให้ดีได้ตลอดไปต้องได้รับสารอาหาร ทางโภชนาการอย่างพอเพียงสารอาหารตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันมีด้วยกัน 6 กลุ่มได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ น้ำ และยังมี “กลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์” ซึ่งเป็นพฤกษเคมีที่มีอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเราอย่างมากอีกด้วย



      "กินอย่างไรให้สุขภาพดี"

            สุขภาพ ร่างกายหากมีความแข็งแรงย่อมไม่นำโรคภัยมา การมีสุขภาพที่ดีเป็นที่ปราถนาของทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี วันนี้เรามีเคล็ดลับกินอย่างไรให้สุขภาพดีมาบอก

       



          เคยสงสัยตัวเองไหมว่า พฤติกรรมการบริโภคอาหารของตัวเองควรจะมีการแก้ไขไหม เป็นพฤติกรรมที่ควรจะทำหรือเปล่า ปัจจุบันคนไทย เรามีนิสัยการบริโภคที่ไม่ถูกเท่าที่ควรนัก ทั้งที่มีกระแสรักสุขภาพ เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่กลับมีวิธีการกินที่ผิด ๆ เข้ามาแทนที่เสียนี่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเริ่มเปลี่ยนตัวเองมาสู่วิธีการกินที่ถูกต้องก็ในเมื่อชีวิตนี้มีแค่ชีวิตเดียว เราก็ควรจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเรา


          พฤติกรรมและวินัยการบริโภคผิด ๆ

          ถ้าให้พูดถึงวิธีการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง สามารถกล่าวถึงได้หลายอย่าง บางอย่างก็เป็นสิ่งที่ไม่รู้ตัวและไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะบางอย่างเป็นสิ่งที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน

          การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กกลับเป็นเรื่องที่ใหญ่อย่างคาดไม่ถึง เพราะจะทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น เหมือนเราใช้งานร่างกายหนักขึ้น วันหรือสองวันอาจจะไม่มีผลอะไรแต่อย่าลืมว่าเราต้องกินข้าวและเคี้ยวอาหารตลอดชีวิตของเรา

          ติดนิสัยกินอาหารจุบจิบ เป็นอุปนิสัยการกินที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะการหยิบของใกล้มือมากินตลอดเวลา โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและของทอด โดยไม่คำนึงถึงไขมันและแคลอรีส่วนเกิน

          ไม่กินอาหารเช้า จากชีวิตในสังคมเมืองที่ต้องเร่งรีบวิ่งตามเวลา บางครั้งการเตรียมอาหารเช้าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก็จะทำให้หงุดหงิดง่ายความจำไม่ดี ความรู้สึกเฉื่อยชา ไม่ว่องไว

          เลือกรับประทาน อุปนิสัยการรับประทานของผู้คนสมัยนี้จะแสวงหาแต่สิ่งที่ชอบและพึงพอใจ กินอาหารปรุงแต่งรสชาติ ไม่กินผักผลไม้ รับประทานแต่เนื้อสัตว์ ทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุบางอย่างที่จำเป็นกับร่างกาย ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่ากินตามใจปาก

          กินอาหารไม่เป็นเวลา หากเป็นเมื่อก่อนการกินอาหารไม่เป็นเวลาอาจจะมีของแถมมาเป็นโรคกระเพาะอาหารเพียงเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับมีโรคกรดไหลย้อนเข้ามาให้ระแวงเพิ่มอีก กลายเป็น 2 โรคยอดฮิตในหมู่หนุ่มสาวสมัยนี้ไปเสียแล้ว

          สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปนิสัยการรับประทานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถให้ผลกระทบในด้านสุขภาพ และร่างกายของเราได้ในระยะยาว ถ้าเราไม่คิดจะแก้ไข




          เปลี่ยนการกินอย่างไรให้สุขภาพดี

          บางครั้งการพยายามกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก็เป็นอะไรที่น่าเหนื่อยใจไม่ใช่น้อย เพราะข้อห้ามทั้งหลายที่กินนั่นไม่ได้กินนี่ไม่ดี ทำให้รู้สึกว่าชีวิตของเรามันดูยากขึ้น จนเราเลิกล้มความตั้งใจไปก่อนที่จะได้ทำจริง ๆ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินง่าย ๆ ก็ช่วยเราให้สุขภาพดีได้โดยไม่ต้องซื้อหา

          เริ่มวันใหม่ด้วยอาหารเช้า หากคุณไม่มีเวลาพอที่จะกินอาหารเช้ามื้อใหญ่ ลองมองหาอาหารที่สามารถหยิบมากินได้ง่าย ๆ อย่างโยเกิร์ตกับกล้วยน้ำว้าสุก ซึ่งกล้วยน้ำว้าเป็นแหล่งโปรตีน วิตามินเอ ซี บี 1 บี 2 บี 6 นอกจากจะได้ประโยชน์แล้วยังไม่อ้วนด้วย อาหารเช้าเป็นมื้ออาหารที่ทำให้ระบบย่อยอาหาร การดูดซึม และระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กินอาหารมื้ออื่น ๆ ได้น้อยลง

          เปลี่ยนของจุบจิบจำพวกขนมขบเคี้ยวเป็นของที่มีประโยชน์ การห้ามกินของจุบจิบในระหว่างมื้อกลางวัน หรือการกินของว่าง ก่อนนอน หรือช่วงระหว่างดูละครเป็นไปได้ยาก เพราะนับได้ว่าเป็นอุปนิสัยที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว เราก็แทนที่ของเหล่านั้นด้วยผลไม้ที่มีกากใยสูง และมีวิตามินแทนดีกว่า เพราะผลการวิจัยเขาบอกไว้ว่าการกินหลายมื้อไม่ได้ทำให้อ้วน แต่เราจะอ้วนจากการที่ใน 1 วัน เรากินอาหารที่ไม่จำกัดแคลอรี กินเกินกว่าความสามารถในการเผาผลาญของร่างกาย

          หันมากินมังสวิรัติบ้าง ตอนนี้กระแสการกินอาหารมังสวิรัติในวันเกิดของตัวเองกำลังเป็นที่นิยม โดยมีจุดเริ่มต้นจากความคิดในการทำบุญ ใน 1 อาทิตย์หรือ 1 เดือน เราอาจจะเลือก 1 วันที่เราจะกินอาหารมังสวิรัติขึ้นมาและตั้งใจทำให้ได้ การกินมังสวิรัติก็เหมือนกับการดีท็อกซ์ร่างกาย แถมยังได้ความสุขทางใจ สุขภาพจิตก็ดีขึ้น




          เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ทุกวันนี้เราคงไม่ได้สังเกตตัวเองว่าในการกินอาหาร 1 มื้อ เราใช้เวลารวดเร็วมาก ๆ แทนที่จะได้ดื่มต่ำกับรสชาติอาหาร กลับรีบเคี้ยวกลืน และกินให้ไว้ไว้ก่อน ซึ่งถ้าเราลองเปลี่ยนมาเคี้ยวอาหารให้ช้าลง เคี้ยวได้ละเอียดขึ้นจะช่วยทำให้อาหารดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย กระเพาะไม่ต้องทำงานหนัก และยังช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายอีกด้วย
 
          พยายามกินอาหารให้ได้ทุกหมวดหมู่
เราอาจจะไม่ชอบกินอาหารบางชนิด อย่างบางคนที่ไม่ชอบรสชาติของอาหารบางอย่าง เราไม่ต้องถึงขนาดอดทนกล้ำกลืนกินเข้าไป แต่ให้ไปหาอาหารชนิดอื่นที่มีคุณค่าใกล้เคียงกันมากันมากินก็ได้ เพราะแทนที่จะฝืนทนกินให้จิตใจเครียดและปฏิเสธ แทนที่สุขภาพ จะดีขึ้นแต่กลับจะแย่ลงเสียมากกว่า


                    "การดื่มน้ำ"

          ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง หากไม่มีเวลาดื่มระหว่างวัน แนะนำให้ลองดื่มน้ำเปล่าตอนตื่นนอนวันละ 1-2 แก้ว และก่อนนอนอีก 1-2 แก้ว ก็ได้เพราะตอนเช้าระดับความเข้มข้นของเลือดสูง ร่างกายเราจะรู้สึกว่าขาดน้ำ ก่อนนอนก็ควรจะดื่มสัก 1-2 แก้ว เพื่อให้น้ำไปชำระล้างสิ่งตกค้างในลำไส้และกระเพาะอาหาร





              " ออกกำลังกาย "
 

          เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนรักการออกกำลังกาย ทั้งนี้แม้คุณจะกินอาหารที่ดีเพียงใด แต่การออกกำลังกายก็ยังเป็นยาวิเศษที่ช่วยชะลอการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นจะต้องออกไปวิ่ง หรือเข้ายิมทุกวัน แต่ใช้เวลาว่างระหว่างวันเพียงแค่ 10 นาที ก็สามารถออกกำลังกายง่าย ๆ ได้ หรือใช้บันไดในการขึ้นลงระหว่างชั้นให้มากขึ้นก็ได้

                การออกกำลังกายโดยวิธีการเต้นแอดรบิก





          การตั้งมั่นตั้งใจทำสิ่งใหม่ ๆ เป็นเรื่องดี อย่างการที่อยากจะปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ แต่หากทำโดยตั้งอยู่ในพื้นฐานของความเคร่งเครียดในการผลักคันตัวเองมากเกินไป จะทำรู้สึกไม่มีความสุข ความพยายามจะไม่เป็นผล ดังนั้นการจะเปลี่ยนตัวเองนั้น หากค่อย ๆ เปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำจนเป็นกิจวัตรนิสัย เชื่อแน่ว่าสุขภาพดี จิตใจสงบ ความรู้สึกดี ๆ จะเกิดขึ้นกับตัวเราแน่นอน



 ที่มาของเนื้อหาดีๆ http://women.thaiza.com

ขอบคุณรูปสวยๆจาก http://www.google.co.th

  ขอบคุณวีดีโอจากhttp://www.youtube.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น